ประวัติวันสงกรานต์

 ประวัติวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_1.jpg

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีนศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า “สงครามน้ำ

ความหมายของ วันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_2.jpg

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13,14,15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก

         ความหมายของคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้

         สงกรานต์ ที่แปลว่า “ก้าวขึ้น” “ย่างขึ้น”นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

         มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

         วันเนา แปลว่า “วันอยู่” คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

ภาพ:Songkarn_20.jpg

วันเถลิงศก แปลว่า “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

         วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. 1181 โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ 1 องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย

         ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ 13 เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ 13 จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

         ปกติวันสงกรานต์จะมี 3 วัน คือ เริ่มวันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน วันแรกคือวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที 0 องศา) วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริง ๆ มีถึง 4วัน คือวันที่ 13-16 เป็นวันเนาเสีย 2 วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว

         จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ

 ความเป็นมาของวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_3.jpg

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า “วันเถลิงศก” จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตามปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

         สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

ภาพ:Songkarn_4.jpg

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

         การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน “กลับบ้าน” ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ตำนานนางสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_11.jpg

ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม “ธรรมบาล” ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

         ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

         ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

         ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

ภาพ:Songkarn_5.jpg

จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

  • ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

  • ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

ภาพ:Songkarn_6.jpg

  • วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

  • วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

  • วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี

  • วันพุธ ชื่อ นางมันทะ

  • วันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ

  • วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

  • วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

 คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_7.jpg

ตามตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง ได้ให้คำทำนายเกี่ยวกับวันสงกรานต์ไว้ดังนี้

1. วันมหาสงกรานต์

  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล

  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย

  • ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล

  • ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล

  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล

  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล ฯ

2. วันเนา

ภาพ:Songkarn_8.jpg

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล

  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ

  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง

  • ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่

  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล

  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย

  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแล ฯ

3. วันเถลิงศก

ภาพ:Songkarn_9.jpg

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล

  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง

  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล

  • ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก

  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล

  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล

  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ

 สงกรานต์ 4 ภาค

ภาพ:Songkarn_10.jpg

 สงกรานต์ภาคเหนือ

          หรือ สงกรานต์ล้านนา หรือ “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่”วันสังขารล่อง”(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา”หรือ”วันเน่า”(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน”หรือ”วันเถลิงศก” (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย”วันปากปี”(16 เม.ย.)ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ”วันปากเดือน”(17 เม.ย.)เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ภาคอีสาน

         นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ”ตรุษสงกรานต์” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

 สงกรานต์ภาคใต้

         ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์(13 เม.ย.)เป็น”วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน”วันว่าง”(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น”วันรับเจ้าเมืองใหม่”(15 เม.ย.)จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

 สงกรานต์ภาคกลาง

         เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน”มหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น”วันกลาง”หรือ”วันเนา” วันที่ 15 เป็นวัน”วันเถลิงศก” ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

พื้นที่เด่นในการจัดงานสงกรานต์ในประเทศไทย

ภาพ:Songkarn_17.jpg

ภาคเหนือ

  • ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง: 13 – 15 เมษายน บริเวณทั่วเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

  • ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ ศรีสัชนาลัย: 13 -15 เมษายน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ภาคอีสาน

  • มหาสงกรานต์อีสานหนองคาย(สงกรานต์ไทย-ลาว): 6 – 18 เมษายน บริเวณหาดจอมมณีแม่น้ำโขงและวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย

  • สงกรานต์นครพนม รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทยลาว: 12 – 15 เมษายน อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

  • สุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน-เสียงแคนและถนนข้าวเหนียว: 8 – 15 เมษายน บริเวณบึงแก่นนคร และถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น

ภาพ:Songkarn_19.jpg

 ภาคกลาง

Summer Fave 2007 city on the beach: 12 – 16 เมษายน ลานเซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

  • ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า: บริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา

  • งานประเพณีวันไหลพัทยา-นาเกลือ: 18 – 19 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะลานโพธิ์ จังหวัดชลบุรี

  • ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน: 16 – 17 เมษายน บริเวณชายหาดบางแสน อำเภอเมืองล จังหวัดชลบุรี

  • งานประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว: 19 – 21 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะเกาะลอย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

  • ประเพณีสงกรานต์เกาะสีชัง: 13 – 19 เมษายน บริเวณเกาะสีชังและเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี

ภาคใต้

  • งานเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช แห่นางดาน: 11- 15 เมษายน บริเวณวัดพระบรมธาตุ และบริเวณสวนศรีธรรมโศกราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

  • Songkran the Water Festival on the Beach: 12 – 16 เมษายน บริเวณสวนสาธารณะโลมา และเดอะพอร์ต ศูนย์การค้าจังซีลอน หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

  • หาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์: 12 – 13 เมษายน บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศและถนนเสน่หานุสรณ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

         แม่งานใหญ่ของงานเทศกาลตามพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และทางจังหวัด

 กิจกรรมวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_18.jpg

 ก่อนวันสงกรานต์

         เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง กิจกรรมที่ทำ ได้แก่

  • การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็นต้น

  • การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆนอกจากนี้ ยังมีผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย

  • การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาวของหวาน ที่พิเศษ ได้แก่ การเตรียมขนมที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของวันตรุษและวันสงกรานต์ นั่นคือ ข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และขนมกวนหรือกาละแม สำหรับวันสงกรานต์

 เมื่อถึงวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_13.jpg

เมื่อถึงวันสงกรานต์ เป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจให้เบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • การทำบุญ ตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด

  • การทำบุญอัฐิ อาจจะทำตอนไหนก็ได้ เช่น หลังจากพระภิกษุ – สามเณรฉันเพลแล้ว หรือจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ ฉันเพลที่บ้าน แล้วบังสุกุลก็ได้

  • การทำบุญอัฐิ อาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หากไม่มีให้เขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษ เมื่อบังสุกุลเสร็จจึงเผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เช่นเดียวกับการเผาศพ

  • การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป

         การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย

         การสรงน้ำพระพุทธรูป อาจจะจัดเป็นขบวนแห่ หรือ เชิญมาประดิษฐานในที่อันเหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ

ภาพ:Songkarn_19.jpg

  • การก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน

  • การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการปล่อยนก ปล่อยปลาที่ติดกับดัก บ่วง ให้ไปสู่อิสระ หรือปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจจะตายได้ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบเดิม

  • การรดน้ำผู้ใหญ่ หรือการรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การรดน้ำผู้ใหญ่อาจจะรดน้ำทั้งตัวหรือรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ ดังนั้นจึงควรมีผ้านุ่งห่มไปมอบให้ด้วย เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว

  • การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่าง ๆแล้ว เป็นการเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความ สัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบา ๆ ด้วยความสุภาพ

  • การเล่นรื่นเริงต่างๆ เช่น เข้าทรงแม่ศรี สะบ้า ลูกช่วง สุดแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ

         ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้ อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น การจะยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ

 สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_14.jpg

1. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

         2. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด

         3. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม

         4. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ

         5. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป 1 ปีแล้วและในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง

         6. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว

         7. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน

คุณค่าและสาระจากวันสงกรานต์

ภาพ:Songkarn_15.jpg

จากภาพรวมของกิจกรรมต่าง ๆ ในวันสงกรานต์ จะเห็นได้ว่า สงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน มิใช่เทศกาลแห่งน้ำอย่างที่หน่วยงานของรัฐบางแห่งกำลังดำเนินการเพื่อสร้างจุดขาย สร้างรายได้เข้าประเทศ จนสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ซึ่งกำลังจะห่างไกลและหลุดลอยไปจากรากเหง้าเดิมของประเพณีสงกรานต์กันไปทุกที

         ประเพณีที่ถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น ประเพณีสงกรานต์นี้ จึงย่อมมีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้ปฏิบัติ ชุมชนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

         วันสงกรานต์เป็นวันแห่งความรัก ความผูกพันในครอบครัว อย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอพร ปัจจุบันเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่รดน้ำขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป

         วันสงกรานต์เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

         วันสงกรานต์ เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น การได้พบปะสังสรรค์ร่วมกันทำบุญ และการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงในยามบ่ายหลังจากการทำบุญ โดยการเล่นรดน้ำในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จักและการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น

         สงกรานต์เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะในวันนี้ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดหมดจดเพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน นอกจากนี้ยังควรช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

         วันสงกรานต์ เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรมและสรงน้ำพระศรัทธาในการทำบุญให้ทาน ซึ่งถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ และการถือศีลปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน

 สงกรานต์ในปัจจุบัน และอนาคต

ภาพ:Songkarn_16.jpg

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ส่งผลกับประเทศไทย ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ประเพณีสงกรานต์ก็ตกอยู่ในวัฏจักรนี้เช่นเดียวกัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประการที่ยังความเป็นห่วงให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่รักและเห็นคุณค่าของประเพณีนี้ จึงมีความพยายามที่จะรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อให้ทุกคนที่เป็นคนไทย รวมทั้งชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงความหมาย ความสำคัญ และคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริง

         หากคนไทยทุกคนเข้าใจถึงคุณค่า และแนวทางปฏิบัติของประเพณีสงกรานต์ และร่วมมือกันปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อสืบทอดความหมายและคุณค่า ความเบี่ยงเบน ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะหมดไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเล่นสาดน้ำที่เกินเหตุ ซึ่งนอกจากจะเต็มไปด้วยพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายทั้งการใช้น้ำสกปรก การใช้น้ำแข็งขว้างปา การใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงจนก่อให้เกิดอันตราย การใช้แป้งใช้สีทาตามหน้าตาและเนื้อตัว ฯลฯ ตลอดจนกระทั่งการขยายความหมายของการเล่นสาดน้ำให้เป็นจุดขายของประเพณีสงกรานต์จนเกินจริง ทั้ง ๆ ที่การเล่นรดน้ำเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงถึงความเอาใจใส่ ความเอื้ออาทร และความหวังดีซึ่งกันและกันเท่านั้น

         เราคนไทยควรใช้ประเพณีสงกรานต์นี้ เป็นโอกาสในการสร้างความรัก ความกตัญญู ความเอื้ออาทร ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อมนุษย์ด้วยกัน มากกว่าจะเป็นเพียงการเล่นสาดน้ำอย่างอึกทึกครึกโครมเท่านั้น โดยละเลยคุณค่า สาระ ที่เป็นแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ที่งดงามมาและทรงคุณค่ามาแต่อดีต

อ้างอิง http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php.

ประวัติวันครู

วันครู

ประวัติวันครู



โดย  : 
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมโดย : 
สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก

  • ความหมาย

           ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

  • ความเป็นมา

          วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

          ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน

          ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

          การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. กิจกรรมทางศาสนา

  2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

  3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์ ว่าดังนี้

คาถา ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)

     ข้าขอประนมกรกระพุ่ม

อภิวาทนาการ

กราบคุณอดุลคุรุประทาน

หิตเทิดทวีสรร

     สิ่งสมอุดมคติประพฤติ

นรยึดประคองธรรม์

ครูชี้วิถีทุษอนันต์

อนุสาสน์ประภาษสอน

     ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน

นะตระการสถาพร

ท่านแจ้งแสดงนิติบวร

ดนุยลยุบลสาร

     โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร

ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล

ไปเบื่อก็เพื่อดรุณชาญ

ลุฉลาดประสาทสรรพ์

     บาปบุญก็สุนทรแถลง

ธุระแจงประจักษ์ครัน

เพื่อศิษย์สฤษฎ์คติจรัล

มนเทิดผดุงธรรม

     ปวงข้าประดานิกรศิษ

(ษ) ยะคิดระลึกคำ

ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ

อนุสรณ์เผดียงคุณ

     โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก

อดิเรกเพราะแรงบุญ

ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน –

ทรศิษย์เสมอเทอญฯ

คาถา ปญญาวุฑฺฒิกเรเตเต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

          คำประพันธ์ของ พระวรเวทย์พิสิฐ (วรเวทย์ ศิวะศริยานนท์) ครูอาวุโสสวดคาถาแรกแล้ว สวดคำฉันท์ ในวรรคแรก นำผู้ที่มาประชุมสวดต่อจนจบ แล้วครูอาวุโสสวดคาถาท้าย

          จากนั้นประธานจัดงานวันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ ๑ นาที เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ นำผู้ร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ ดังนี้

          ข้อ ๑ ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ ๒ ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ ๓ ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

  • จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

  1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

  2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

  3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

  4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

  5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

  6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

  7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป พื่อประโยชน์ส่วนตน

  8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

  9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

  10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

        ผู้ที่จะเป็นครูได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความเสียสละอย่างมาก เพราะการที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้ ไม่เพียงแต่ครูจะต้องถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เท่านั้น แต่ต้องสอนสั่งให้ศิษย์เป็นคนดี เป็นคนมีคุณภาพของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งเวลาและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ครูจึงมีพระคุณเปรียบประดุจพ่อแม่คนที่สองของเรา

ในหนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ความเป็นมาของ “วันครู” ว่าสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ด้วยในสมัยนั้น ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ ถึงแนวความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครูขึ้น ด้วยเห็นว่าครูเป็นผู้มีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิต จึงควรมีสักวันหนึ่งที่จะให้ศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูทั่วไป

ดังนั้น ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ทุกวันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปี เป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

การจัดงาน “วันครู” มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๐ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยมีหลักการว่าให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี ซึ่งอนุสรณ์สำคัญก็ได้แก่ หนังสือประวัติวันครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ ต่อมาการจัดงานวันครูก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเรื่อยมา จนปัจจุบันรูปแบบสำคัญมักจะประกอบด้วย กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ การกล่าวปฏิญาณตน การกล่าวรำลึกถึงพระคุณบูราพาจารย์ และกิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู เป็นต้น

สำหรับดอกไม้ประจำวันครู คือ “ดอกกล้วยไม้” โดยพิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ

ดังคำกลอนของ หม่อนหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า

“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”

พระพุทธเจ้าได้เปรียบครูว่า เป็นดังทิศเบื้องขวา ผู้ซึ่งมีหน้าที่อนุเคราะห์ต่อศิษย์ดังนี้
๑ แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ และ
๕.สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพ และรู้จักดำรงรักษาตน ในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี

งานของครู นั้น เป็นงานหนัก และเป็นงานที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานสร้างคน โดยเฉพาะการสร้าง “คนดี” อันจะเป็นเสมือน “ต้นกล้า”ที่มีคุณภาพให้แก่แผ่นดินในอนาคต

 อ้างอิง  http://www.seal2thai.org/kru/kru001.htm

1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่

1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่

วันขึ้นปีใหม่

  เผลอแป๊บเดียว …ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปีเนี่ย รู้หรือเปล่าว่ามันมีที่มาอย่างไร ถ้าไม่รู้ต้องลองอ่านนี่เลย

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า “ปี” หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น “ปีใหม่” จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย

สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ “วันตรุษสงกรานต์”

ปีใหม่ วันปีใหม่

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม

          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

 เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

 เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

 ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

 เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่

          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ “เพลงพรปีใหม่” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้

          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)

                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่

          การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ “บัตรเยี่ยม” (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า “ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน”

          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า “ส.ค.ศ” หรือ “ส.ค.ส” ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า “ส.ค.ส” เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า “ส่งความศุข” หรือ “ส่งความสุข”

หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น

ส.ค.ส พระราชทาน

          ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

ส.ค.ส พระราชทาน
ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนัก เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้น ๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน

ส.ค.ส พระราชทาน

                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547

สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส.ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้น ๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส.มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี
 

ส.ค.ส พระราชทานปีล่าสุด 2554 

ส.ค.ส.พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2554 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนกไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกัน ด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011

ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆเรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม

กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ

 เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

 ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

 ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

 ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

 ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี

 จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่าง ๆ

 จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่

 จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ

ปีใหม่ วันปีใหม่

เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ Kapook.com ขอให้เพื่อน ๆ คิดดี ทำดี และพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ตลอดปี ตลอดไป ขออวยชัยให้มีสุขสมหวัง มีพลังในการต่อสู้ ขอให้มีความสุขกาย สบายใจ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัยทั้งหลายทั้งปวง … Happy Happy ตลอดไปค่ะ

 อ้างอิง http://hilight.kapook.com/view/18913

ประวัติวันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง

              เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่(เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา”มักจะ” ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง

ผู้คนจะพากันทำ “กระทง” จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาพระแม่คงคาด้วย

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า “ลอยโคม” หรือ “ว่าวฮม” หรือ “ว่าวควัน” ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า “ยี่เป็ง” หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)

จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า “กระทงสาย”

จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

ภาคอีสานจะตบแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า “ไหลเรือไฟ”

กรุงเทพฯ จะมี งานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว7-10วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

ประวัติ

เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3

ปัจจุบันวันลอยกระทงเป็นเทศกาลที่สำคัญของไทย

ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวปีละมากๆ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว และมีอากาศดี ในวันลอยกระทง ยังนิยมจัดประกวดนางงาม เรียกว่า “นางนพมาศ”

ความเชื่อเกื่ยวกับวันลอยกระทง

# เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
# เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย
# เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
# ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้

อ้างอิง http://blog.eduzones.com/rangsit/12371

ประวัติคอมพิวเตอร์

ประวัติคอมพิวเตอร์

ประวัติคอมพิวเตอร์ โดยสังเขป ลำดับจากวิวัฒนาการได้ดังนี้

    – แรกเริ่มมนุษย์ดำเนินชีวิตโดยไม่มีการบันทึกสิ่งใด มาจนกระทั่งได้มีการติดต่อค้าขายของพ่อค้าชาวแบบีลอน(Babylonian) การจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงบน clay tabletsจึงได้ถือกำเนิดขึ้น และอุปกรณ์ที่ช่วยในการคำนวนระหว่างการติดต่อซื้อขายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเช่นกัน อุปกรณ์คำนวณในยุคแรกได้แก่ ลูกคิด(abacus)ซึ่งก็ยังคงใช้กันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติคอมพิวเตอร์
clay tablets (แผ่นดินเหนียว)

ประวัติคอมพิวเตอร์
ลูกคิด (abacus)

     – ประวัติคอมพิวเตอร์ ดำเนินมาถึง ปี พ.ศ. 2185 นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Blaise Pascal (แบลส ปาสกาล) ได้สร้างเครื่องกลสำหรับการคำนวณชื่อ pascaline

ประวัติคอมพิวเตอร์
Blaise Pascal

 

ประวัติคอมพิวเตอร์
เครื่องกลสำหรับการคำนวณชื่อ pascaline

    – ต่อมาในปี พ.ศ. 2215 เครื่องกล pascaline ของ Blaise Pasca ได้ถูกพัฒนาเพิ่มเติมโดย Gottfried Von Leibniz นักคณิตศาสตร์ชาวเยอร์มันโดยเพิ่มสามารถในการ บวก ลบ คูณ หาร และถอดรากได้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าเครื่อง pascaline ที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมเครื่องนี้มีความสามารถในการคำนวนแม่นยำเพียงใด

ประวัติคอมพิวเตอร์
Gottfried Von Leibniz

    – ปี พ.ศ. 2336 นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ Charles Babbage ได้สร้างจักรกลที่มีชื่อว่า difference engine ที่มีฟังก์ชันทางตรีโกณมิติต่างๆ โดยอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์ และและต่อมาก็ได้สร้าง analytical engine ที่มีหลักคล้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปในปัจจุบัน จากผลงานดังกล่าว Charles Babbage ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาของคอมพิวเตอร์และเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ประวัติคอมพิวเตอร์
Charles Babbage

ประวัติคอมพิวเตอร์
difference engine

ประวัติคอมพิวเตอร์
analytical engine

    – ปี พ.ศ. 2439 Herman Hollerith ได้คิดบัตรเจาะรูและเครื่องอ่านบัตร

ประวัติคอมพิวเตอร์
Herman Hollerith

ประวัติคอมพิวเตอร์
บัตรเจาะรู

    – จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2480 Howard Aiken สร้างเครื่องกล automatic calculating machine ขึ้น จุดประสงค์ของเครื่องกลชิ้นนี้ก็คือ เพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีทั้งทาง electrical และ mechanical เข้ากับบัตรเจาะรูของ Hollerith และด้วยความช่วยเหลือของนักศึกษาปริญญาและวิศวกรรมของ IBM ทีมงานของ Howard ก็ประดิษฐ automatic calculating machine สำเร็จในปี พ.ศ. 2487 โดยใช้ชื่อว่า MARK I โดยการทำงานภายในตัวเครื่องจะถูกควบคุมอย่างอัตโนมัติด้วย electromagnetic relays และ arthmetic counters ซึ่งเป็น mechanical ดังนั้น MARK I จึงนับเป็น electromechanical computers

ประวัติคอมพิวเตอร์
Howard Aiken

ประวัติคอมพิวเตอร์
MARK I

    – และต่อมา Dr. John Vincent Atanasoff และ Clifford Berry ได้ประดิษฐเครื่อง ABC (Atanasoff-Berry Computer) โดยใช้ หลอดสูญญากาศ (vacuum tubes)

ประวัติคอมพิวเตอร์
เครื่อง ABC (Atanasoff-Berry Computer)

    – ปี พ.ศ. 2483 Dr.John W. Mauchy และ J. Presper Eckert Jr. ได้ร่วมกันพัฒนา electronic computer โดยอาศัยหลักการออกแบบบนพื้นฐานของ Dr. Atanasoff electronic computer เครื่องแรกมีชื่อว่าENIAC แม้จะเป็นelectronic computer แต่ENIACก็ยังไม่สามารถเก็บโปรแกรมได้(stored program) จึงได้มีการพัฒนาเป็นเครื่อง EDVAC ซึ่งอาศัยหลักการ stored program สมบูรณ์และได้มีการพัฒนาเป็นเครื่อง EDSAC และท้ายสุดก็ได้พัฒนาเป็นเครื่อง UNIVAC(Universal Automatic Computer) ในเวลาต่อมา

ประวัติคอมพิวเตอร์
ENIAC

ประวัติคอมพิวเตอร์
EDVAC

ประวัติคอมพิวเตอร์
EDSAC

ประวัติคอมพิวเตอร์
UNIVAC

    ในท้ายที่สุด หากจะจำแนกประวัติคอมพิวเตอร์ตามยุคของคอมพิวเตอร์(Computer generations) โดยแบ่งตามเทคโนโลยีของตัวเครื่องและเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล ก็สามารถจะจัดแบ่งตามวิวัฒนาการได้ 4 ยุคด้วยกัน คือ

    ยุคแรกเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีของหลอดสูญญากาศ และการเก็บข้อมูลเป็นแบบบัตรเจาะรู

    ยุคที่สอง เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีของทรานซิสเตอร์ และการเก็บข้อมูลเป็นแบบเทป ลักษณะเป็นกรรมวิธีตามลำดับ(Sequential Processing)

    ยุคที่สาม เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีของไอซี(integrated circuit, IC) และการเก็บข้อมูลเป็นแบบจานแม่เหล็ก ลักษณะเป็นการทำงานหลายโปรแกรมพร้อมกัน (Multiprogramming) และออนไลน์(on-line)

    ยุคที่สี่ เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีของวงจรรวมขนาดใหญ่ (Large-scale integration, LSI) ของวรจรไฟฟ้า ผลงานจากเทคโนโลยีนี้คือ ไมโครโปรเซสเซอร์ (microprocessor ) กล่าวได้ว่าเป็น “Computer on a chip” ในยุคนี้

     จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้ถูกพัฒนาต่อๆ กันมาอย่างรวดเร็วทำให้วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้อีกว่าโลกของวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นมี การเคลื่อนไหวเสมอ(dynamics) แต่การรพัฒนาดังกล่าวกลับไม่ค่อยยืดหยุ่น(rigid)มากนัก เพราะหากเกิดความผิดพลาด ในกลไกเพียงเล็กน้อย บางครั้งก็อาจเป็นบ่อเกิดปัญหาที่ใหญ่โตมหาศาลได้ นอกจากนี้การพัฒนาคอมพิวเตอร์ยังนับได้ว่าเป็นโลกที่ควบคุมไม่ได้ หรือสามารถจัดการได้น้อย กล่าวคือ ทันทีที่คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยโปรแกรม เครื่องก็ปฏิบัติงานไปตามโปรแกรมด้วยตนเอง และขณะที่เครื่องทำงานอยู่นั้นมนุษย์จะไม่สามารถควบคุมได้

อ้างอิง http://computer.kapook.com/history.php